รูปแบบเจดีย์จากแรกมี ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ

07:43 Mali_Smile1978 494 Comments


รูปทรงสถูป ศิลปอินเดียสมัยโบราณ

       การสร้างสถูปเป็นพุทธเจดีย์นั้น เป็นที่แพร่หลายในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ถึงได้อุทิศพระองค์เป็นอุบาสก แล้วเสด็จออกผนวชเป็นพระภิกษุอยู่คราวหนึ่ง พระองค์ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเมื่อพระองค์ได้เสด็จจาริกแสวงบุญไปในที่ต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าหรือพุทธสาวกที่สำคัญ เช่น สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน พร้อมกับทรงสร้างสถูปและเสาอโศกประดิษฐานไว้ยังสถานที่นั้นๆ เพื่อเป็นที่สักการบูชาของคนในท้องถิ่น และเป็นเครื่องชี้ให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่า สถานที่แห่งนี้มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ พระองค์ยังได้แจกพระบรมธาตุไปประดิษฐานไว้ในประเทศต่างๆ และประสงค์จะให้สร้างสถูป (หรือเจดีย์) บรรจุอัฐิธาตุของพระสังฆเถระ เป็นบริวารของมหาสถูปทั่วชมพูทวีป เป็นจำนวน 84,000 องค์ด้วย
     ลักษณะพระสถูปที่สร้างเมื่อครั้งพระเจ้าอโศกนั้น มักทำตัวสถูปกลม รูปทรงเหมือนขันน้ำหรือโอคว่ำข้างบนทำเป็นพุทธอาสน์สี่เหลี่ยมตั้งไว้และมีฉัตรปักบนนั้นเป็นยอด ใต้ตัวสถูปทำเป็นฐานรอง รอบฐานทำเป็นที่สำหรับเดินประทักษิณ แล้วมีรั้วล้อมรอบ (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2469: 37-38) ดังพระสถูปสาญจี ศิลา ที่ยังคงเหลือเป็นหลักฐานมาถึงยุคปัจจุบันนี้ 
   
พระสถูปที่สาญจี ศิลปอินเดียสมัยโบราณ พุทธศตวรรษที่ 5
ที่มาภาพ: https://goo.gl/tZpLPm

รูปทรง สัณฐาน ของสถูปอินเดียโบราณ
ที่มาภาพ: https://goo.gl/l8Pd9J

มหาสถูป" ที่สาญจี 

     มหาสถูป สาญจี ปัจจุบันอยู่ในรัฐมัธยมประเทศของอินเดีย ที่นี่เป็นดินแดนแห่งสถูป (เจดีย์)วัด วิหาร และเสาศิลาจารึก สันนิษฐานว่าเริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 250 แต่เดิมเป็นเจดีย์ที่สร้างด้วยดิน และได้มีการบูรณะเพิ่มเติมในสมัยราชวงศ์ศุงคะ หรือประมาณพุทธศตวรรษที่ 3-4 ถูกค้นพบโดยนักโบราณคดีชาวอังกฤษ ซึ่งได้พบสถูปองค์ ที่ 1, 2,3 พร้อมกุฏีที่พักสงฆ์เป็นจำนวนมาก แต่สถูปได้ถูกทำลายเป็นส่วนมาก โดยพวกนักล่าสมบัติ
     พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างมหาสถูปสาญจีขึ้น ในสมัยที่เป็นอุปราชปกครองกรุงอุชเชนี ด้วยพระประสงค์สำคัญ 4 อย่างคือ
      1. เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
      2. เพื่อบรรจุพระธาตุของพระอัครสาวก พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ รวมทั้งพระธาตุของพระสมณทูตอีก 10 รูป ที่ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาภายหลังการสังคายนาครั้งที่ 3
      3. เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระโอรส “มหินทระเถระ” และพระธิดา “พระสังฆมิตตาเถรี”
      4. เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระมเหสีพระนามว่า พระนางเวทิสา ผู้มีถิ่นกำเนิดที่สาญจี แห่งนี้
       
     ปัจจุบันสถูปเจดีย์สาญจีอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ มีลักษณะเป็นรูปกลม “ทรงโอคว่ำ“ ถือเป็นรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุด มีความสูง 16 เมตร กว้าง 37 เมตร มีประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศ มียอดฉัตรสามชั้น พร้อมกำแพงหินสลักภาพพุทธประวัติที่งดงามยิ่งนัก รวมถึงภาพพระพุทธเจ้าในอดีต และภาพสัตว์ต่างๆ ที่สื่อความสำคัญทางพระพุทธศาสนา
     นอกจากนี้ ในสมัยพระเจ้าอโศก ภายหลังการเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเถระยังดินแดนสุวรรณภูมิ ส่งผลให้สถูปเจดีย์จากอินเดีย ได้ส่งอิทธิพลต่อการสร้างเจดีย์ในประเทศไทยในกาลต่อมาอีกหลายแห่ง อาทิ พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร, พระประโทณเจดีย์ วัดพระประโทณเจดีย์วรวิหาร, เนินวัดพระงาม ตั้งอยู่ในวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม เป็นต้น (พระมหาสมจินต์ สมมาปญโญ (2547)  http://goo.gl/KbOhUP)    

ประวัติองค์พระปฐมเจดีย์

      พระปฐมเจดีย์ ถือว่าเป็นเจดีย์องค์แรกที่สร้างขึ้นในประเทศไทย ประมาณ พ.ศ. ๓๐๐ สมัยที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งสมณทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ พระโสณะ พระอุตตระ และคณะได้เดินทางมาประกาศพระพุทธศาสนาที่ดินแดนสุวรรณภูมิ องค์เจดีย์ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่องค์เดิม แต่เป็นเจดีย์ที่ก่อขึ้นมาใหม่หุ้มองค์เดิมไว้
     พระปฐมเจดีย์องค์เดิมมีลักษณะเหมือนเจดีย์ที่สาญจิ ประเทศอินเดีย กล่าวคือ องค์เจดีย์เป็นรูปกลม เหมือนโอหรือขันน้ำคว่ำ ข้างบนทำเป็นพุทธอาสน์สี่เหลี่ยมตั้งไว้ มีฉัตรปักเป็นยอด ฐานเจดีย์ทำเป็นสี่เหลี่ยม รอบฐานทำเป็นที่เดินประทักษิณ อีกประการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวินิจฉัยว่า พระธมเจดีย์องค์นี้อาจเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเมื่อคราวที่พระสมณทูตในพระเจ้าอโศกมหาราชเดินทางมาเผยแผ่ศาสนายังสุวรรณภูมิก็เป็นได้ เพราะพระเจดีย์เดิมมีลักษณะทรงโอคว่ำหรือทรงมะนาวผ่าซีกแบบเดียวกับพระสถูปสาญจี แต่ปรากฏว่ามียอดเป็นแบบปรางค์ ซึ่งพระองค์ฯ มีพระราชวินิจฉัยว่า อาจมีเจ้านายพระองค์ใดมาบูรณะไว้ก็เป็นได้ (วิกิพีเดีย. https://goo.gl/zDT5of)


ที่มาภาพ: https://goo.gl/Bwq6Tx
รูปแบบพระปฐมเจดีย์ องค์เดิม
ที่มา: https://goo.gl/nPu22b
          พระปฐมเจดีย์องค์เดิมมีขนาดความสูง ๑๙ วา ๒ ศอก (หรือ ๓๙ เมตร) ถูกทิ้งให้รกร้างไม่มีใครดูแลอยู่ระยะหนึ่ง สมัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวชอยู่ เสด็จฯไปนมัสการพระปฐมเจดีย์หลายครั้ง ทรงเห็นว่าเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ เมื่อขึ้นครองราชย์ จึงได้โปรดฯให้ก่อเจดีย์แบบลังกาครอบเจดีย์องค์เดิมไว้เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๖ มีขนาดความสูง ๑๒๐ เมตร ๔๕ เซนติเมตร
    ดังนั้น ลักษณะองค์เจดีย์ในปัจจุบัน ทรงพระปรางค์ ปากผาย โครงสร้างเป็นไม้ซุง รัดด้วยโซ่เส้นใหญ่ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ ขนาดความสูงจากพื้น ๑๒๐ เมตร ๔๕ เซนติเมตร มีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ประดิษฐานโดยรอบ ๘๐ องค์ ประกอบด้วยพระวิหาร ๔ ทิศ กำแพงแก้ว ๒ ชั้น
    

พระปฐมเจดีย์ องค์ปัจจุบัน จ.นครปฐม
ที่มาภาพ: https://goo.gl/HvnxFd

เจดีย์แบบปรางค์
     ระยะเวลากว่าพันปีมาแล้ว ที่ดินแดนไทยรวมทั้งดินแดนใกล้เคียงในภูมิภาคแถบนี้ ได้เข้าสู่วัฒนธรรมศาสนาภายใต้ระบบกษัตริย์ ซึ่งแผ่ขยายจากประเทศอินเดียโบราณ ทำให้แบบแผนด้านงานช่างหรือที่เรียกว่า "ศิลปกรรม" อันเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่ง ในการเผยแผ่คติความเชื่อและการศรัทธาในศาสนา ได้ก้าวผ่านพัฒนาการมาเป็นลำดับ จนมีลักษณะเฉพาะเป็นลำดับยุคสมัยของดินแดนเหล่านั้น ซึ่งการติดต่อไปมาหาสู่กัน ทำให้เกิดการถ่ายรับแรงบันดาลใจด้านรูปแบบ และคติความเชื่อระหว่างดินแดนทั้งใกล้และไกลอีกด้วย จึงมีรูปแบบเจดีย์ทรงอื่นๆ มีการปรับปรุงอยู่ในดินแดนต่างๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนา  (สารานุกรมสำหรับเยาวชน, http://goo.gl/WSK4GR)

    เจดีย์อีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “ปรางค์” มีแบบอย่างมาจากปราสาท(เรือนหลายชั้น) ปราสาทนี้เดิมทีเดียวสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่ของคนมั่งมี สร้างด้วยไม้ ต่อมามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแบบการสร้างปราสาท นิยมสร้างอิฐและศิลาเกิดเป็นพระปรางค์ นิยมสร้างกันทั้งในกลุ่มคนที่นับถือพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์(ฮินดู) สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปหรือเทวรูป ถ้าเป็นพระปรางค์ในพระพุทธศาสนา ยอดทำเป็นสถูป แต่ถ้าเป็นปรางค์ในศาสนาพราหมณ์ ยอดทำเป็นตรีศูล (๓ สามแฉก) หรือนพศูล(๙ แฉก)  
 พระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
ที่มาภาพ: https://goo.gl/LtKqoo

     พระปรางค์วัดศรีสวาย (สามองค์)
ที่มาภาพ: https://goo.gl/TqsoC7

    พระปรางค์ของไทยโดยทั่วไปมีลักษณะรูปทรงคลี่คลายมาจากอิทธิพลแบบอย่างสถาปัตยกรรมสิขร ของขอมและอินเดียผสมผสานกัน แต่มิได้ลอกเลียนแบบมาโดยตรง พุทธปรางค์ในสมัยสุโขทัยแม้จะมีอยู่เพียงไม่กี่องค์ก็ตาม แต่ก็มีปัญหาถกเถียงกันในหมู่นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ปรางค์ต่างๆ เป็นปรางค์ที่ขอมสร้างไว้เมื่อครั้งยังมีอำนาจในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและเลยขึ้นไปถึงลำน้ำยม ต่อมาเมื่อไทยมีอำนาจมากขึ้น ได้ดัดแปลงแต่งเติมเพิ่มขึ้นภายหลัง จึงปรากฏรูปแบบศิลปะของฝีมือช่างไทย คือรูปทรงสูงชลูด พุทธปรางค์เท่าที่ปรากฏอยู่มี พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระปรางค์วัดเจ้าจันทน์ ในอำเภอศรีสัชนาลัย พระปรางค์วัดศรีสวาย (สามองค์) พระปรางค์วัดพระพายหลวง (สามองค์) และศาลผาตาแดง(ยอดพังลงหมดแล้ว)ในอำเภอเมืองสุโขทัย  (Ramkhamhaeng University.ศิลปกรรมสัมยสุโขทัย http://goo.gl/6ckzhl

เจดีย์ประธานทรงระฆัง ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ที่มาภาพ: 
https://goo.gl/u56EYI

     เจดีย์ที่พบในประเทศไทย มีทั้งแบบเจดีย์ประธานยอดดอกบัวตูม ที่วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เจดีย์ประธานทรงระฆัง ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน เจดีย์ทรงระฆังแบบทรงเครื่อง เจดีย์ทรงเครื่องวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง เจดีย์วัดสามพิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เจดีย์ทรงปราสาทแบบหริภุญชัย ที่วัดกู่กุด จังหวัดลำพูน
ที่มาภาพ: 
https://goo.gl/PMZB1z

      เจดีย์ทรงปราสาทแบบหริภุญชัย ที่วัดกู่กุด จังหวัดลำพูน เจดีย์ทรงปราสาทแบบสุโขทัย ที่วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆังแบบสุโขทัย ที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว ศรีสัชนาลัย เจดีย์ทรงปราสาทแบบขอม ที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เจดีย์ทรงปราสาทแบบขอม ปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี

พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม
ที่มาภาพ: 
https://goo.gl/xY2OXp

        เจดีย์ทรงปรางค์ ปรางค์ประธาน ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เจดีย์ทรงปรางค์นี้สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรม ๒ สาย พราหมณ์(ฮินดู)กับพระพุทธศาสนา ยอดปรางค์เป็น ๓ แฉก(ตรีศูล) แสดงถึงอาวุธประจำตัวของพระศิวะ(พระอินทร์) หรือแสดงถึงเทพใหญ่ ๓ องค์ของฮินดู คือ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิว(ตรีมูรติ) ยอดปรางค์เป็น ๙ แฉก เช่นปรางค์วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ มีกิ่งรูปดาบแตกสาขาออกไป ๔ ทิศ แสดงถึงโลกุตตรธรรม ๙(พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ (2547)  http://goo.gl/KbOhUP)



มหาธรรมกายเจดีย์เป็นเจดีย์รูปทรงดั้งเดิม ร่วมสมัยพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ
ที่มาภาพ: 
https://goo.gl/D81EG0

    ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า รูปแบบเจดีย์สมัยต่างๆ ที่กล่าวมาโดยย่อนี้ สะท้อนภาพรวมที่เป็นเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมในอดีตของดินแดนไทย มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่นมีการผสมผสาน จนในที่สุดกลายมาเป็นเจดีย์ในศิลปะรัตนโกสินทร์ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน  
    เราจะเห็นว่าในพระพุทธศาสนา ปรากฎรูปแบบของพุทธเจดีย์หลายหลาก แต่ทุกรูปแบบนั้นเหตุที่สร้างขึ้นมีเหมือนกันในทุกๆ ภูมิภาค (เกษมสุข ภมรสถิตย์, 2558: 42) คือ
   1. สร้างเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา
   2. สร้างเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์
   3. สร้างเพื่อสักการะเคารพบูชา
     

                                                                         เรียบเรียงโดย: มะลิ สไมล์ ,นักวิชาการอิสระ


อ้างอิงข้อมูล: 
1.สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ.ตำนานพระพุทธเจดีย์.2469.
2.ศาสตราจารย์ ดร. สันติ เล็กสุขุม.เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย.พิมพ์ครั้ง ที่ 5,2552.
3.พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ "เจดีย์ในพระพุทธศาสนา" (2547)  http://goo.gl/KbOhUP.
                             
                                                        

ประวัติการสร้างเจดีย์ในพระพุทธศาสนา ตอนที่ 3 เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๘ แห่ง

06:13 Mali_Smile1978 21 Comments

ประวัติการสร้างเจดีย์ในพระพุทธศาสนา ตอนที่ 3
เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๘ แห่ง

พระสถูปเจดีย์ของพระโคดมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย

        กษัตริย์ในแคว้นต่าง ๆ ได้ทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ต่างส่งทูตไปที่กรุงกุสินาราแคว้นมัลละ เพื่อขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสร็จแล้ว ทูตจากเมืองต่าง ๆ ยินยอมพร้อมใจกันให้โทณพราหมณ์ได้ทำหน้าที่ประสานสัมพันธ์ แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ โทณพราหมณ์กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอจงฟังคำข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย
ตรัสสรรเสริญขันความ(ความอดทน) การที่เราจะแตกสามัคคีกันเพราะส่วนแบ่ง
แห่งพระบรมสารีริกธาตุนี้ไม่ดีเลย ขอให้เราทั้งหลายยินยอมพร้อมกันแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน ขอพระสถูปจงแพร่หลายในทิศทั้งหลาย 
คนที่เลื่อมใสพระพุทธเจ้ามีอยู่เป็นจำนวนมาก

        ต่อจากนั้นก็ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุกัน ทูตจากเมืองต่าง ๆ ได้พระบรมสารีริกธาตุคนละ ๒ ทะนาน นำไปยังเมืองของตน ทำการเฉลิมฉลองบูชาสักการะ เปิดโอกาสให้พุทธศาสานิกชนได้กราบไหว้บูชากัน ต่อจากนั้นได้สร้างสถูป (เจดีย์) เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นที่บูชาสักการะในกาลสืบไป ดังนี้

(๑) พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธ ได้กระทำสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในกรุงราชคฤห์

สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในกรุงราชคฤห์
(๒) กษัตริย์ลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชี ได้กระทำสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในกรุงเวสาลี

สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในกรุงเวสาลี
(๓) กษัตริย์ศากยะแห่งแคว้นสักกะ ได้กระทำสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในกรุงกบิลพัสดุ์

สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในกรุงกบิลพัสดุ์
(๔) กษัตริย์ถูลีแห่งอัลลกัปปะ ได้กระทำสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในเมืองอัลลกัปปะ

สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในเมืองอัลลกัปปะ
(๕) กษัตริย์โกลิยะแห่งรามคาม ได้กระทำสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในเมืองรามคาม

สถูป ในเมืองรามคาม
(๖) เจ้าผู้ครองนครแห่งเวฏฐทีปกะ ได้กระทำสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในเมืองเวฏฐทีปกะ

(๗) กษัตริย์มัลละแห่งแคว้นมัลละฝ่ายเหนือ ได้กระทำสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้
ในเมืองกุสินารา
        สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในเมืองกุสินารา
(๘) กษัตริย์มัลละแห่งแคว้นมัลละฝ่ายใต้ ได้กระทำสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในเมืองปาวา

จุนทะสถูป สถูปโบราณที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึง
สถานที่เสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า
         ส่วนโทณพราหมณ์ได้กระทำสถูปบรรจุทะนานที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุแบ่งกันนั้นแหละไว้เป็นที่บูชาสักการะ กษัตริย์แห่งโมริยะ ได้กระทำสถูปบรรจุพระอังคาร(เถ้า)ไว้ในเมืองปิปผลิวัน

สถานที่สันนิษฐานว่าเป็นที่โทณพราหมณ์แจกพระบรมสารีริกธาตุ
แก่เจ้าผู้ครองนครทั้ง 8 ในกุสินารานคร
         เรื่องนี้แสดงให้เห็นความสำคัญของสถูป(เจดีย์) กำเนิดความเป็นมาของสถูปในอินเดีย กล่าวเฉพาะเรื่องพระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธ จัดพิธีฉลองยิ่งใหญ่ตลอดระยะทางตั้งแต่กรุงกุสินาราถึงราชคฤห์เลยทีเดียว นับเป็นระยะทาง ๒๕ โยชน์ พระองค์ได้ทรงสร้างสถูปพระบรมสารีริกธาตุไว้อย่างดี เรื่องนี้น่าศึกษามิใช่น้อย ตำนานบอกว่า พระมหากัสสปเถระได้ถวายคำแนะนำแก่พระเจ้าอชาตศัตรูให้ดำเนินการรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุอีก ๗ ส่วนที่ได้แจกจ่ายไปตามเมืองต่าง ๆ นั้นมารวมบรรจุไว้ในกรุงราชคฤห์ เพื่อป้องกันอันตรายอันอาจจะเกิดขึ้น โดยพระมหากัสสปเถระรับภาระที่จะรวบรวมเอง
        จากนั้น พระเถระก็ได้ดำเนินการรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุจากราชตระกูลทั้ง ๗ มาประดิษฐานไว้ในทิศตะวันออก และทิศใต้ของกรุงราชคฤห์ โดยพระเถระเล็งเห็นว่า ในอนาคต คนทั้งหลายจักเก็บพระบรมธาตุเหล่านี้ไว้ในมหาเจดีย์ในมหาวิหารลังกา ๒ พระราชารับสั่งให้สร้างสถูปไว้ ๘ องค์ ใส่พระบรมสารีริกธาตุไว้ผอบจันทน์เหลือง ๘ ใบ พระมหากัสสปเถระอธิษฐานว่า “พวงมาลัยอย่าเหี่ยว กลิ่นหอมอย่าหายไป ประทีปอย่าไหม้” แล้วให้จารึกไว้ที่แผ่นทองว่า “แม้ในอนาคต ครั้งพระกุมารพระนามว่าอโศกจักเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าอโศกมหาราช ท้าวเธอจักทรงกระทำพระบรมสารีริกธาตุเหล่านี้ให้แพร่หลายไป ดังนี้”

ประเภทของเจดีย์


      สถูปเจดีย์นั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประเภทหนึ่งในหลายประเภท ที่คนอินเดียโบราณนิยมสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในเชื้อชาติเดียวกันกับพระพุทธเจ้า (ศากยะ) ซึ่งพบว่า เมื่อญาติเสียชีวิตจะนิยมเผาศพและเก็บกระดูกไว้บูชา โดยสร้างสถานที่เก็บเอาไว้ (หากมีขนาดใหญ่โตก็เรียกว่าสถูป) เพื่อให้ผู้คนได้สักการบูชาระลึกถึงผู้ตาย ซึ่งเป็นรูปแบบของสิ่งก่อสร้างที่สัมพันธ์กับการฝังศพ โดยเฉพาะการฝังอัฐิธาตุซึ่งได้มีการใช้มาแล้วก่อนสมัยพุทธกาล
    สถูปกับเจดีย์มีความหมายไม่เหมือนกันในที่นี้ กล่าวคือ สถูปจะมีความหมายที่ใช้เฉพาะสิ่งก่อสร้างในทางสถาปัตยกรรม
    ส่วนเจดีย์จะกินความหมายกว้างกว่า มีนัยกว้างขวางครอบคลุมสิ่งที่ควรเคารพ นับถือ บูชาหลายอย่างดังที่กล่าวแล้ว  คือหมายถึงสิ่งก่อสร้างในทางสถาปัตยกรรม และมีความหมายรวมถึงวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่ควรแก่การสักการบูชา เช่น พระพุทธรูป วิหาร พระไตรปิฎก ฯลฯ
   โดยสรุปมี ๔ ประเภท

๑. ธาตุเจดีย์ สิ่งก่อสร้างที่บรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า พระเจ้าจักรพรรดิ
๒. บริโภคเจดีย์ สังเวชนียสถาน อันเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า เช่น สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน หรือที่เรียกว่าสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล
๓. ธรรมเจดีย์ ข้อความที่ว่าด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นคำ ประโยคทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง คัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา
๔. อุทเทสิกเจดีย์ สิ่งของที่สร้างขึ้นอุทิศพระพุทธเจ้า เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้า ไม่กำหนดว่าจะเป็นอะไร เช่น พระแทนวัชรอาสน์ที่เจดีย์ศรีมหาโพธิพุทธคยา พระพุทธรูป

      โดยนัยนี้จะเห็นว่า “เจดีย์” มีความหมายกว้างครอบคลุมสิ่งที่ควรบูชาสักการะทุกอย่าง ไม่ได้หมายถึงสถูปอย่างเดียว เจดีย์ที่มีความหมายเดียวกันกับ “สถูป” คือ ธาตุเจดีย์ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระบรมธาตุ หรืออัฏฐิธาตุ
     

 อ้างอิงข้อมูลจาก : พระมหาสมจินต์ สมมาปญโญ (2547) http://goo.gl/KbOhUP; https://goo.gl/NNfVw3;
นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 166 ตุลาคม 2557
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9570000113440

21 ความคิดเห็น:

ประวัติการสร้างเจดีย์ในพระพุทธศาสนา ตอนที่ 1

05:46 Mali_Smile1978 4 Comments

ประวัติการสร้างเจดีย์ในพระพุทธศาสนา ตอนที่ 1



การสร้างเจดีย์เป็นพุทธประสงค์

         คำว่า “พุทธประสงค์” หมายถึง พุทธประสงค์ที่จะรักษาประเพณีของชาวพุทธ คราวเมื่อใกล้จะปรินิพพาน ขณะพระพุทธเจ้าประทับบรรทมระหว่างสาละทั้งคู่ ณ สาลวโนทยาน กรุงกุสินารา พระอานนท์กราบทูลถามถึงวิธีปฏิบัติในพระพุทธสรีระหลังจากปรินิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิต พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิต คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิต เลื่อมใส ในพระตถาคตจะพึงปฏิบัติในพระสรีระของตถาคต เหมือนที่เขาปฏิบัติในพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิ

         เมื่อพระอานนท์กราบทูลถามว่า เขาปฏิบัติในพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิอย่างไร ?” พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “เขาห่อพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าใหม่ ครั้นห่อแล้วซับด้วยสำลี ครั้นซับด้วยสำลีแล้ว ห่อด้วยผ้าไหม โดยอุบาย เขาห่อพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้า ๕๐๐ คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่มีน้ำมันบรรจุเต็มอยู่ แล้วครอบด้วยรางเหล็กอีกใบหนึ่ง วางบนเชิงตะกอน
(จิตกาธาน) ที่ทำด้วยดอกไม้นานาชนิด ถวายพระเพลิงพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิ สร้างพระสถูปของพระเจ้าจักรพรรดิไว้ในทางใหญ่ ๔ แพร่ง ดูก่อนอานนท์ เขาปฏิบัติในพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิอย่างนี้ พึงปฏิบัติในพระพุทธสรีระเหมือนอย่างพระเจ้าจักรพรรดิ พึงสร้างพระสถูปของพระตถาคตไว้ในทางใหญ่ ๔ แพร่ง เหล่าชนผู้พวงมาลัยดอกไม้ของหอม หรือกราบไหว้ หรือทำจิตให้เลื่อมใสในพระสถูปนั้น ข้อนั้นก็จักได้รับประโยชน์ ได้รับความสุขตลอดกาลนาน”

        นอกจากนี้ พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสถึงบุคคล ๔ ประเภท ซึ่งเป็นผู้ควรแก่การสร้างสถูปไว้บูชา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวกของพระพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ


        ข้อมูลเหล่านี้ เป็นเครื่องยืนยันว่า สถูปหรือเจดีย์ในพระพุทธศาสนา เป็นพุทธประสงค์โดยตรง และพอกล่าวได้ว่า ประเพณีนิยมในการสร้างพระสถูปเจดีย์นั้น มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น และนิยมสร้างกันมาตั้งแต่สมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ แม้แต่คราวที่พระสารีบุตรผู้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวานิพพาน หลังจากทำฌาปนกิจสรีระแล้ว พระพุทธเจ้าก็ยังสั่งให้พระจุนทะและคณะสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุสารีริกธาตุไว้ที่ประตูพระเชตวัน เมืองสาวัตถี และส่วนหนึ่งให้สร้างสถูปเจดีย์บรรจุไว้ที่นาลันทาบ้านเกิด 
        ความจริง ประเพณีนิยมในการสร้างสถูปหรือเจดีย์นี้มีมาก่อนพุทธกาล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวไว้ในเรื่อง “ตำนานพุทธเจดีย์” ตอนหนึ่ง “พระสถูปนั้น เดิมสร้างสำหรับบรรจุพระบรมธาตุ ตามแบบแผนอันมีประเพณีในมัชฌิมประเทศตั้งแต่ก่อนพุทธกาล” เข้าใจว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประเภทหนึ่งในหลายประเภทที่คนอินเดียโบราณนิยมสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในเชื้อชาติเดียวกันกับพระพุทธเจ้า สันนิษฐานว่า คนกลุ่มศากยะอาจเป็นกลุ่มเดียวกันกับพวกอารยันที่อพยพลงจากตอนเหนือของอินเดีย แต่ต่อมาไม่เห็นด้วยกับระบบสังคมวัฒนธรรมที่อารยันส่วนใหญ่ถือปฏิบัติ โดยเฉพาะการแบ่งชนชั้นทางสังคมออกเป็นวรรณะ กลุ่มนี้จึงแยกตัวออกมาเรียกชื่อว่า “ศากยะ” และสร้างวัฒนธรรมประเพณีแบบใหม่ขึ้นมาถือปฏิบัติในกลุ่มของตนเอง เมื่อญาติเสียชีวิตก็นิยมเผาศพและเก็บกระดูกไว้บูชา โดยสร้างที่เก็บ ซึ่งถ้ามีขนาดใหญ่โตก็เรียกว่า สถูป






    อ้างอิงข้อมูล :
1.พระมหาสมจินต์ สมมาปญโญ (2547) http://goo.gl/KbOhUP
2. https://goo.gl/JwtYad

4 ความคิดเห็น:

ประวัติการสร้างเจดีย์ในพระพุทธศาสนา ตอนที่ 2 (การสร้างเจดีย์เป็นประเพณีของพระพุทธศาสนา)

05:43 Mali_Smile1978 2 Comments

           ประวัติการสร้างเจดีย์ในพระพุทธศาสนา ตอนที่ 2


สถูปสาญจี ประเทศอินเดีย
ที่มา: https://goo.gl/JNuAXW

การสร้างเจดีย์เป็นประเพณีของพระพุทธศาสนา


         สถูปหรือเจดีย์นั้น ในพระพุทธศาสนา ถ้าจะให้ถูกต้องจริง ๆ ต้องเรียกว่า “พระสถูป” ต้องใช้คำว่า “พระ” นำหน้าด้วย เพราะเป็นของสูง เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุโดยเฉพาะ การสร้างสถูปหรือเจดีย์เป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะ ซึ่งมิได้มีเฉพาะในสมัยพระโคดมพุทธเจ้าเท่านั้น ในสมัยของพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ ชาวพุทธก็สร้างสถูปหรือเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ เพื่อเป็นที่บูชาสักการะทั้งสิ้น พระสถูปหรือเจดีย์ของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์มีขนาดแตกต่างกันไป ในคัมภีร์พุทธวงศ์ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓๓ มีข้อความระบุไว้ชัดเจนตามลำดับดังนี้

๑. พระทีปังกรพุทธเจ้า พระชินศาสดาพระนามว่า ทีปังกร เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ณ นันทาราม พระสถูปอันประเสริฐของพระชินเจ้าพระองค์นั้น สูง ๓๖ โยชน์ ณ นันทารามนั้น พระสถูปบรรจุบาตร จีวร บริขาร และเครื่องบริโภคของพระองค์ผู้ศาสดา ที่โคนต้นโพธิ์ในกาลนั้น สูง ๓ โยชน์

๒. พระโกณฑัญญพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพระนามว่า โกณฑัญญะ ผู้ทรงพระสิริ เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ นันทาราม พระเจดีย์ของพระองค์สูง ๗ โยชน์ ณ นันทารามนั้นแล

๓. พระมงคลพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพระนามว่ามงคล เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ พระราชอุทยานชื่อเวสสระ พระสถูปของพระชินเจ้านั้นสูง ๓๐ โยชน์ ณ พระราชอุทานชื่อเวสสระนั้นแล

๔. พระสุมนพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพระนามว่าสุมนะ ผู้ทรงพระยศ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่อังคาราม พระสถูปของพระชินเจ้านั้น สูง ๔ โยชน์ ที่อังคารามนั้นแล

๕. พระเรวตพุทธเจ้า พระเรวตพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอัฏฐิธาตุแตกกระจัดกระจายไม่รวมเป็นแท่งเดียวกัน แผ่ไปประดิษฐานอยู่ในนานาอารยประเทศ

๖. พระโสภิตพุทธเจ้า พระโสภิตพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอัฏฐิธาตุของพระองค์กระจัดกระจายไม่รวมเป็นแท่งเดียวกัน แผ่ไปประดิษฐานอยู่ในนานาอารยประเทศ

๗. พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า พระชินศาสดาพระนามว่าอโนมทัสสี เสด็จดับขันธปรินิพพานที่ธรรมาราม พระสถูปของพระชินเจ้านั้นสูง ๒๕ โยชน์ ที่ธรรมารามนั้นแล

๘. พระปทุมพุทธเจ้า พระปทุมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอัฏฐิธาตุของพระองค์กระจัดกระจายไม่รวมเป็นแท่งเดียวกัน แผ่ไปประดิษฐานอยู่ในนานาอารยประเทศ

๙. พระนารทพุทธเจ้า พระชินพุทธเจ้าผู้ประเสริฐพระนามว่านารท เสด็จดับขันธปรินิพพานที่สุทัสสนนคร พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์ สูง ๔ โยชน์ ที่สุทัสสนนครนั้นแล

๑๐. พระปทุมุตตรพุทธเจ้า พระชินพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่นันทาราม พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์ สูง ๑๒ โยชน์ ที่นันทารามนั้นแล

๑๑. พระสุเมธพุทธเจ้า พระสุเมธพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอัฏฐิธาตุของพระองค์กระจัดกระจายไม่รวมเป็นแท่งเดียวกัน แผ่ไปประดิษฐานอยู่ในนานาอารยประเทศ

๑๒. พระสุชาตพุทธเจ้า พระชินพุทธเจ้าผู้ประเสริฐพระนามว่าสุชาตะ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่เสลาราม พระเจดีย์ของพระศาสดา สูง ๓ คาวุต ที่เสลารามนั้นแล

๑๓. พระปิยทัสสีพุทธเจ้า พระมุนีผู้ประเสริฐพระนามว่าปิยทัสสี เสด็จดับขันธปรินิพพานที่อัสสัตถาราม พระสถูปของพระชินเจ้านั้น สูงถึง ๓ โยชน์ ที่อัสสัตถารามนั้นแล

๑๔. พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า พระอัตถทัสสีพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอัฏฐิธาตุของพระองค์กระจัดกระจายไม่รวมเป็นแท่งเดียวกัน แผ่ไปประดิษฐานอยู่ในนานาอารยประเทศ

๑๕. พระธัมมทัสสีพุทธเจ้า พระมหาวีระพระนามว่าธัมมทัสสี เสด็จดับขันธปรินิพพานที่เกสาราม พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์นั้น สูงถึง ๓ โยชน์

๑๖. พระสิทธัตถพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ ทรงเป็นมุนีผู้ประเสริฐ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่อโนมาราม พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์ สูงถึง ๔ โยชน์ ที่อโนมารามนั้น

๑๗. พระติสสพุทธเจ้า พระชินพุทธเจ้าผู้ประเสริฐพระนามว่าติสสะ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่นันทาราม พระสถูปของพระองค์ สูงถึง ๓ โยชน์ ที่นันทารามนั้น

๑๘. พระปุสสพุทธเจ้า พระปุสสพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอัฏฐิธาตุของพระองค์กระจัดกระจายไม่รวมเป็นแท่งเดียวกัน แผ่ไปประดิษฐานอยู่ในนานาอารยประเทศ

๑๙. พระวิปัสสีพุทธเจ้า พระวีรพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงเป็นนระผู้ประเสริฐ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่สุมิตตาราม พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์ สูงถึง ๗ โยชน์ ที่สุมิตตารามนั้น

๒๐. พระสิขีพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ทรงเป็นมุนีผู้ประเสริฐ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่อัสสาราม พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์ สูงถึง ๓ โยชน์ ที่อัสสารามนั้นแล

๒๑. พระเวสสภูพุทธเจ้า พระเวสสภูพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอัฏฐิธาตุของพระองค์กระจัดกระจายไม่รวมเป็นแท่งเดียวกัน แผ่ไปประดิษฐานอยู่ในนานาอารยประเทศ

๒๒. พระกกุสันธพุทธเจ้า พระชินพุทธเจ้าผู้ประเสริฐพระนามว่ากกุสันธะ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่เขมาราม พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์ สูงถึง ๑ คาวุต ที่เขมารามนั้นแล

๒๓. พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอัฏฐิธาตุของพระองค์กระจัดกระจายไม่รวมเป็นแท่งเดียวกัน แผ่ไปประดิษฐานอยู่ในนานาอารยประเทศ

๒๔. พระกัสสปพุทธเจ้า พระชินศาสดาพระนามว่ามหากัสสปะ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่เสตัพยาราม พระสถูปของพระชินพุทธเจ้านั้น สูงถึง ๑ โยชน์ ที่เสตัพยารามนั้นแล

๒๕. พระโคดมพุทธเจ้า พระโคดมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอัฏฐิธาตุของพระองค์กระจัดกระจายไม่รวมเป็นแท่งเดียวกัน แผ่ไปประดิษฐานอยู่ในนานาอารยประเทศ

      พระพุทธเจ้าพระองค์ใดที่พระอัฏฐิธาตุกระจัดกระจายไม่รวมเป็นแท่งเดียวกัน พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นนับว่ามีพระบารมีแผ่กว้างใหญ่ไพศาล อนุเคราะห์แก่ชาวโลกได้ทั่วถึงมาก กล่าวเฉพาะโคดมพุทธเจ้า เมื่อพระมหากัสสปเถระรวมพระอัฏฐิธาตุ (พระบรมสารีริกธาตุ) มาไว้ที่เดียวกัน คือที่กรุงราชคฤห์ ครั้นถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์รับสั่งให้สร้างพระสถูป (เจดีย์) ๘๔,๐๐๐ องค์ประดิษฐานทั่วชมพูทวีป (อินเดีย) แล้วบรรจุพระอัฏฐิธาตุของพระโคดมพุทธเจ้า ประชาชนทั่วชมพูทวีปก็ได้บูชาสักการะ และได้บุญทั่วถึงกัน



              อ้างอิงข้อมูลจาก : พระมหาสมจินต์ สมมาปญโญ (2547)  http://goo.gl/KbOhUP

2 ความคิดเห็น:

มหาธรรมกายเจดีย์ มหาเจดีย์แห่งพระรัตนตรัย

05:57 Mali_Smile1978 0 Comments

มหาธรรมกายเจดีย์ มหาเจดีย์แห่งพระรัตนตรัย 



มหาธรรมกายเจดีย์
สัญลักษณ์แห่งสันติภาพโลก


        มหาธรรมกายเจดีย์นับว่าเป็นมหาเจดีย์แห่งพระรัตนตรัย เกิดขึ้นจากการนำของพระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) โดยดำริจะสร้างศาสนสถานให้เป็นศูนย์กลางการรวมใจและการประพฤติปฏิบัติธรรมของชาวพุทธทั่วโลก ซึ่งศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายและพุทธศาสนิกชนทั่วโลกได้ร่วมใจกันสถาปนาขึ้นตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2537 เรื่อยมา โดยเป้าหมายในการก่อสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ ก็เพื่อไว้เป็นสถานที่สำหรับสร้างสันติภาพโลกให้แก่มวลมนุษยชาติ โดยเริ่มจากการพัฒนาสันติสุขภายในใจของแต่ละบุคคล เพราะแท้จริงแล้ว สันติภาพโลกเป็นผลพลอยได้จากใจที่เปี่ยมไปด้วยสันติสุข และความบริสุทธิ์ของทุกๆ คนที่เกิดขึ้นจากใจที่หยุดนิ่งจากการทำสมาธิ(Meditation) สันติสุขภายในจะผสานความแตกต่างและแตกแยก และสร้างปณิธานแห่งสันติภาพโลกร่วมกัน

       ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องมีสถานที่รองรับผู้คน ซึ่งกำลังค้นหาบางสิ่งที่จะเติมเต็มให้กับชีวิตและจิตใจ และความสุขที่เป็นอิสระจากวัตถุภายนอกและสภาวะแวดล้อม นอกจากการพัฒนาอานุภาพของจิตผ่านการเจริญสมาธิภาวนาแล้ว ยังมีการปลูกฝังศีลธรรมให้กับผู้ที่สนใจ ดังนั้นจึงได้มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย อันเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ มหาธรรมกายเจดีย์ เป็นหนึ่งในศาสนสถานในโครงการก่อสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีส่วนประกอบในโครงการนี้ 3 ส่วน คือ

1. องค์มหาธรรมกายเจดีย์
2. ลานธรรม
3. มหารัตนวิหารคด

       
           องค์มหาธรรมกายเจดีย์ มีลักษณะเป็นทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางที่ฐาน 194.40 เมตร ความสูง 32.40 เมตร มีส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน ได้แก่

พุทธรัตนะ

     พุทธรัตนะ คือ ส่วนโดมและเชิงลาดสีทอง ด้านนอกเจดีย์ประดิษฐานพระธรรมกายประจำตัว 300,000 องค์ และด้านในเจดีย์อีก 700,000 องค์ ฐานองค์พระจารึกรายนามของผู้มีบุญที่ร่วมสร้างองค์พระธรรมกายประจำตัวประดิษฐานไว้ ณ มหาธรรมกายเจดีย์แห่งนี้ด้วย องค์พระธรรมกายประจำตัวมีความสูง 18 เซนติเมตร หล่อด้วยโลหะซิลิกอนบรอนซ์ยิงอนุภาคทองคำแท้เคลือบพื้นผิวด้านนอกองค์พระและจารึกชื่อของผู้เป็นเจ้าของไว้ที่ฐานองค์พระ เพื่อเป็นอนุสรณ์ของชีวิต และเป็นทางมาแห่งบุญที่จะเกิดขึ้นกับผู้สร้างนานนับพันปีเท่าอายุขององค์พระ นอกจากนี้ภายในเจดีย์ยังประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระบรมพุทธเจ้า

        พระประธานในมหาธรรมกายเจดีย์ หล่อจากเงินแท้ หนัก 14 ตัน มีความสูง 4.50 เมตร หน้าตักกว้าง 4.50 เมตร ทั้งองค์พระธรรมกายประจำตัวและองค์พระบรมพุทธเจ้าสร้างตามลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปรากฏหลักฐานในพระไตรปิฎก และแบบเดียวกับพระธรรมกายภายในที่ปรากฏในตัวมนุษย์ทุกคน

ธรรมรัตนะ

       ธรรมรัตนะ เป็นวงแหวนเชิงลาดสีขาวโดยรอบมหาธรรมกายเจดีย์ แทนพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงสัญลักษณ์ที่แผ่ขยายออกไปประดุจธรรมจักร เป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างพุทธรัตนะและสังฆรัตนะ มีความกว้าง 10.8 เมตร

สังฆรัตนะ

        สังฆรัตนะ เป็นพื้นที่ขั้นบันไดวงแหวน ลดหลั่นลงมา จำนวน 22 ขั้น ถัดจากธรรมรัตนะ ใช้สำหรับพระภิกษุนั่งปฏิบัติธรรมและประกอบพิธีจำนวน 10,000 รูป หินแกรนิตที่นำมาประกอบเป็นธรรมรัตนะและสังฆรัตนะ เป็นหินแกรนิตคุณภาพดี เนื้อหินมีความสม่ำเสมอ มีความหนามากกว่าหินแกรนิตทั่วไปในท้องตลาด สั่งตัดพิเศษตามลัษณะโครงสร้างของมหาธรรมกายเจดีย์ ใช้วิธีการปูลอยนั่งบนที่ทำจากฐานสแตนเลสชนิดพิเศษ ถัดลงมารอบองค์มหาธรรมกายเจดีย์เป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ใช้เป็นลานเวียนประทักษิณของพระภิกษุสงฆ์และสระน้ำ และถัดออกไปวงนอกเป็นลานเวียนประทักษิณของสาธุชนตามลำดับ

       โครงสร้างขององค์มหาธรรมกายเจดีย์นั้นสร้างขึ้นจาก Super Structure Concrete ซึ่งเป็นคอนกรีตส่วนผสมพิเศษที่สามารถรับกำลังอัดได้มากกว่าโครงสร้างปกติถึง 3 เท่า พื้นผิวทั้งหมดไม่กระทบกับฝนและแดด ความร้อนและความเย็นก็ไม่กระทบโดยตรง จึงทนทานต่อการกัดกร่อนมากกว่า และสามารถอยู่ได้นานนับพันปี เสาเข็มขององค์มหาธรรมกายเจดีย์หล่อด้วยคอนกรีตผสมพิเศษหุ้มสแตนเลส เพื่อให้ทนต่อการกัดกร่อน

ประเภทของมหาธรรมกายเจดีย์

       ในครั้งพุทธกาล พระพุทธองค์ตรัสบอกกับพระอานนท์ถึงประเภทของมหาเจดีย์ไว้ว่ามี 4 ประเภท มหาธรรมกายเจดีย์เป็นมหาเจดีย์ 3 จาก 4 ประเภท ได้แก่

        ธาตุเจดีย์ ได้แก่ พระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมหาธรรมกายเจดีย์ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน

        อุทเทสิกเจดีย์ ได้แก่ พระพุทธรูป ซึ่งมหาธรรมกายเจดีย์มีพระธรรมกายประจำตัวด้านนอก 300,000 องค์ ด้านใน 700,000 องค์ และพระบรมพุทธเจ้าที่ประดิษฐานเป็นองค์ประธานอยู่ภายในส่วนโดมของมหาธรรมกายเจดีย์

       ธรรมเจดีย์ ได้แก่ สถานที่เก็บพระคัมภีร์ พระธรรมคำสอน และพระไตรปิฎก ตลอดจนตำราการเรียนรู้พระพุทธศาสนา ซึ่งมหาธรรมกายเจดีย์ได้บรรจุพระไตรปิฎก หนังสือ ตำราพระพุทธศาสนา และซีดีรอมวิชาบาลีไว้ในส่วนธรรมรัตนะด้วย







        ผู้คนในยุคต่อๆ ไปจะได้มาเรียนรู้ว่า ครั้งหนึ่งเคยมีกลุ่มชนผู้ได้สร้างสรรค์สันติภาพโลกผ่านสันติสุขภายใน โดยการสถาปนามหาธรรมกายเจดีย์อันน่าอัศจรรย์ให้แก่มวลมนุษยชาติ 


                                                                           ขอขอบคุณที่มาข้อมูล : http://goo.gl/c97TtS

0 ความคิดเห็น:

อานิสงส์บูชาพระเจดีย์ทุกวัน

05:19 Mali_Smile1978 6 Comments

อานิสงส์บูชาพระเจดีย์ทุกวัน


“ข้าพเจ้ามีใจเลื่อมใส ได้ถือเอาดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้

ไปบูชาพระสถูปของพระศาสดาด้วยมือของตนเอง 
เพราะกรรมนั้น รูป คติ ฤทธิ์ และอานุภาพเช่นนี้จึงมีแก่ข้าพเจ้า”



      การบูชามี ๒ อย่าง ได้แก่ อามิสบูชาและปฏิบัติบูชา อามิสบูชา คือ การบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ มีดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องหอมอาหารหวานคาว และน้ำ เป็นต้น ส่วน ปฏิบัติบูชา คือ การตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม สร้างคุณงามความดีตามคำสอนและแบบอย่างอันดีงามของผู้ที่เราจะบูชา ซึ่งพระพุทธองค์เคยตรัสสรรเสริญไว้ว่า การปฏิบัติบูชาเป็นเลิศกว่าอามิสบูชา เพราะบุคคลใดบูชาพระรัตนตรัยด้วยการทำใจหยุดนิ่งให้เข้าถึงรัตนะทั้งสามย่อมได้ชื่อว่าทำการบูชาอันสูงสุด มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่เกินจะพรรณนาได้

     อามิสบูชาที่ทำด้วยจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ เต็มเปี่ยมไปด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในผู้มีคุณธรรมสูงสุด เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้สะอาดหมดจดจากกิเลสอาสวะแล้ว ก็ย่อมมีอานิสงส์มหาศาลเหมือนกัน
    การที่เราบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผ่านมหาธรรมกายเจดีย์ทุกวันเป็นประจำ จะก่อให้เกิดอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่อย่างไม่มีประมาณทั้งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และเป็นการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งถึงนิพพานสมบัติ เพราะผู้ที่เราบูชานั้น ท่านสถิตอยู่ในอายตนนิพพาน เมื่อใจของเรายกสูงขึ้นในระดับนี้ ก็จะเป็นใจที่สะอาดบริสุทธิ์และผ่องใส เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญที่จะบังเกิดขึ้น

     และเนื่องจากพระพุทธเจ้าเป็นอจินไตย ธรรมของพระพุทธเจ้าก็เป็นอจินไตย วิบากของผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าก็เป็นอจินไตย บุคคลใดมีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความเลื่อมใสน้อมจิตบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้าด้วยอามิสบูชาหรือปฏิบัติบูชาก็ตาม บุญอันบริสุทธิ์ก็จะบังเกิดขึ้นกับผู้นั้นและมีผลานิสงส์มหาศาลทีเดียว จะส่งผลให้พบแต่สิ่งที่ดีงามชีวิตก็จะมีแต่ความสุขสงบร่มเย็นทั้งในภพนี้และภพชาติเบื้องหน้า ในขณะที่ยังไม่หมดสิ้นอาสวกิเลส ยังต้องท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ ก็จะเป็นผู้ที่ท่องเที่ยวอยู่แต่ในสองภพภูมิ คือมนุษยโลกและเทวโลก ขณะอยู่บนเทวโลกก็จะเต็มเปี่ยมด้วยทิพยสมบัติอันโอฬาร ดังเช่นเทพนารีผู้มีอานุภาพมากท่านนี้ ที่ได้ประสบผลบุญอันเกิดจากการบูชาพระเจดีย์ทุกวัน




     เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งเมื่อยังเป็นมนุษย์นางเป็นผู้ที่รักบุญมาก ไม่มีวันใดที่จะเว้นว่างจากการสร้างบุญ นางสั่งสมบุญอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ทั้งการให้ทาน รักษาศีล และอบรมจิตใจตนเองด้วยการปฏิบัติธรรม

    ครั้งนั้น นางเกิดเป็นลูกสาวของช่างทำดอกไม้ อาศัยอยู่ที่กรุงราชคฤห์ มีชื่อว่าสุนันทา เป็นหญิงที่มีศรัทธาในพระรัตนตรัยมาก ตั้งใจทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรมไม่เคยขาดจนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน แม้กระนั้นก็ยังเป็นผู้ที่ไม่อิ่มในบุญเลย

     หลังจากที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พุทธบริษัททั้งหลายล้วนต้องการนำพระบรมสารีริกธาตุของพระศาสดากลับไปยังบ้านเมืองของตน เพื่อเก็บไว้สักการบูชาเมื่อนางทราบข่าวว่า พระราชาได้สร้างสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อให้ประชาชนได้เคารพสักการะ นางก็ตั้งใจว่า แม้พระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วก็ตาม เราจะเอาบุญกับพระองค์ไม่ให้ขาดเลย นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาสุนันทาอุบาสิกานี้ก็ส่งพวงมาลัยมะลิและของหอมมากมายที่บิดาส่งมาให้ ไปทำการบูชาพระเจดีย์ทุกวันไม่เคยขาดเลย โดยเฉพาะทุกวันอุโบสถ นางจะเดินทางไปไหว้พระเจดีย์ด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ

     ใจของนางคิดแต่เรื่องบูชาพระเจดีย์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้ใจผูกพันและมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ต่อมา นางล้มป่วยกะทันหันและสิ้นชีวิตลง ครั้นละจากโลกก็ไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในมหาวิมานที่โอฬาร วันหนึ่งเทพนารีสุนันทาได้เข้าไปยังสวนจิตรลดาอันเป็นอุทยานทิพย์และเป็นที่พักผ่อนของเหล่าเทวาทั้งหลาย




   ตามปกติ ความอลังการของสวนทิพย์นี้ จะมีรัศมีแห่งดอกไม้ทิพย์รุ่งเรืองสว่างไสวเปล่งประกายนวลไปทั่วอาณาบริเวณ เมื่อเหล่าเทพบุตรเทพธิดาเข้ามาสู่สวนจิตรลดานี้แล้วจะถูกรัศมีของดอกไม้ทิพย์ที่มีสีสันอันวิจิตรพิสดารนั้นครอบงำ บดบังรัศมีจากเรือนกายอย่างสิ้นเชิง แต่ทันทีที่เทพนารีสุนันทาเดินเข้ามาในสวนทิพย์ รัศมีของดอกไม้ทิพย์นั้นกลับไม่สามารถบดบังรัศมีจากเรือนกายของเทพนารีสุนันทาเลยแม้แต่นิดเดียว รัศมีของนางยังคงสว่างไสวดังเดิมมิเปลี่ยนแปลงเลย
     ท้าวสักกเทวราชจอมเทพเกิดความอัศจรรย์ใจยิ่งนัก จึงถามเทพนารีสุนันทาว่า “ดูก่อนเทพธิดาผู้มีนัยน์ตางดงาม เธอชื่ออะไรจึงมีอานุภาพมากอย่างนี้ มีหมู่นางฟ้าแวดล้อมเดินวนเวียนอยู่ในสวนจิตรลดาอันแสนรื่นรมย์รัศมีของเธอสว่างไสวไปทั่วสวนจิตรลดาแสงสว่างของสวนไม่ได้ปรากฏเลยแม้นิดเดียวรัศมีของเธอมาข่มแสงสว่างของสวนนี้ ดูก่อนเทพธิดาผู้รุ่งเรือง นี้เป็นเพราะผลบุญอะไร”

     เทพนารีสุนันทาทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ ครั้งเมื่อหม่อมฉันเป็นมนุษย์ชื่อว่าสุนันทา เป็นอุบาสิกาอยู่ในกรุงราชคฤห์อันน่ารื่นรมย์ ถึงพร้อมด้วยศรัทธาและศีล ยินดีในการแจกจ่ายทานทุกเมื่อ มีใจเลื่อมใสในหมู่สงฆ์ผู้ปฏิบัติตรงต่อพระนิพพานได้ถวายผ้านุ่งห่ม ภัตตาหาร เสนาสนะ ประทีปทั้งได้รักษาอุโบสถตลอด ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ เป็นผู้ที่สำรวมในศีลห้าเป็นนิจเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการเป็นขโมย จากการประพฤตินอกใจ จากการพูดเท็จ ไกลจากการดื่มน้ำเมา และที่ยิ่งไปกว่านั้น หม่อมฉันได้ส่งดอกไม้ไปบูชาที่พระสถูปทุกวันไม่ขาดเลยอีกทั้งยังหาโอกาสไปบูชาด้วยตนเองในวันอุโบสถ ด้วยบุญนี้ทำให้หม่อมฉันมีอานุภาพและด้วยบุญที่บูชาพระเจดีย์ทุก ๆ วัน ทำให้หม่อมฉันได้บรรลุธรรมเป็นพระสกทาคามีก่อนมาบังเกิดในดาวดึงส์พิภพแห่งนี้”


  ท่านสาธุชนผู้มีบุญทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการบูชาพระเจดีย์ซึ่งเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ แล้วส่งใจไปถึงพระรัตนตรัย ถึงพระพุทธเจ้าแม้เสด็จดับขันธปรินิพพานนานแล้ว ถึงพระธรรมคำสอนอันบริสุทธิ์ ถึงพระสงฆ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ การบูชาบุคคลผู้ควรบูชาเช่นนี้มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ไพศาล จะอำนวยประโยชน์ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ เมื่อเกิดในโลกนี้ก็จะเต็มเปี่ยมด้วยโลกิยสมบัติ ยิ่งไปกว่านั้นก็จะทำให้เข้าถึงโลกุตรสมบัติ คือบรรลุธรรมได้โดยง่าย ดังเทพนารีสุนันทาผู้นี้

     ดังนั้น ขอให้ทุกท่านหมั่นบูชามหาธรรมกายเจดีย์ ทั้งอามิสบูชาและปฏิบัติบูชาทุกวัน เพื่อส่งใจไปถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้านับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วนในอายตนนิพพานบุญอนันต์จะได้บังเกิดขึ้น ส่งผลให้สมบูรณ์ด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ทั้งที่เป็มนุษย์สมบัติและสวรรค์สมบัติไปทุกภพทุกชาติตราบวันถึงที่สุดแห่งธรรม



                                            ขอขอบคุณที่มาข้อมูล : เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙
                                                             ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
                                                 จากวารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙

6 ความคิดเห็น:

เล่าเรื่องเจดีย์

04:32 Mali_Smile1978 0 Comments

เล่าเรื่องเจดีย์




เจดีย์เป็นพุทธสถานอันเป็นศูนย์รวมใจชาวพุทธแต่โบราณจวบจนปัจจุบัน
          จากบันทึกของพระถังซัมจั๋ง ซึ่งได้จาริกไปอินเดียเมื่อ 1,400 ปีที่แล้ว กล่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดรูปแบบของเจดีย์ในเบื้องต้น ด้วยการทรงนำจีวร สังฆาฏิ และสบงของพระองค์มาพับเป็นสี่เหลี่ยม แล้ววางซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ จากใหญ่ไปหาเล็ก และทรงคว่ำบาตรของพระองค์วางลงไปบนผ้าอีกทีหนึ่ง แล้วตรัสว่า นี่แหละสถูปเจดีย์ (ดูภาพประกอบ)
         รูปแบบเจดีย์ที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้ จึงเป็นต้นแบบของการสร้างเจดีย์นับแต่นั้นมา ดังตัวอย่างรูปทรงของสาญจิเจดีย์ เจดีย์เก่าแก่ที่สร้างเมื่อราว 2,200 ปีก่อน ก็มีรูปครึ่งทรงกลมประยุกต์จากรูปทรงบาตรคว่ำนั่นเอง

พัฒนาการของรูปทรงเจดีย์ 
เมื่อเวลาผ่านมารูปทรงของเจดีย์ก็มีพัฒนาการมาตามลำดับ
        เริ่มจากการใช้ฉัตร 7 ชั้นบ้าง 9 ชั้นบ้าง ประดับอยู่บนยอดเจดีย์เพื่อแสดงความเคารพบูชา แต่เมื่อนานวันเข้า ฉัตรก็ถูกลมพัดเอียงล้มบ้าง ชำรุดทรุดโทรมบ้าง ในบางท้องที่จึงมีการสร้างฉัตรให้เป็นสิ่งปลูกสร้างถาวร กลายเป็นส่วนยอดของเจดีย์รูปทรงระฆังคว่ำคล้ายที่พระปฐมเจดีย์ มหาเจดีย์ชเวดากองของเมียนม่าร์หรือเจดีย์ทรงทิเบต เป็นต้น
       ในจีนก็มีรูปทรงเจดีย์เป็นทรงตึกซ้อนกัน 5 ชั้นบ้าง 7 ชั้นบ้าง โดยชั้นล่างจะใหญ่ชั้นบนก็จะค่อยๆ เล็กลงตามลำดับ
       เมื่อเวลาผ่านมากว่า 2,000 ปี แต่ละท้องถิ่นก็มีพัฒนาการรูปแบบเจดีย์เป็นเอกลักษณ์ของตน แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงเจดีย์แบบใด สิ่งที่เหมือนกันก็คือ เจดีย์แต่ละแห่งได้เป็นศูนย์รวมใจของชาวพุทธในที่นั้นๆ ถือเป็นองค์แทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พลังศรัทธาของชาวพุทธต่อองค์เจดีย์
         ในประเทศเมียนม่าร์ เมื่อเข้าสู่ลานพระเจดีย์หรือแม้แต่เข้าเขตวัด ทุกคนจะต้องถอดรองเท้าเพื่อแสดงความเคารพ ไม่ว่าจะเป็นคนใหญ่คนโตเพียงใดก็ต้องปฏิบัติตาม เมื่อคราวที่อังกฤษยึดพม่าเป็นอาณานิคม ข้าหลวงใหญ่ชาวอังกฤษต้องการเข้าเยี่ยมชมมหาเจดีย์ชเวดากอง โดยจะใส่รองเท้าเข้าไป เพราะนับถือคนละศาสนาและถือว่าตนคือผู้มีอำนาจปกครอง
        เมื่อข่าวแพร่กระจายไป ชาวพม่านับหมื่นคน ก็มารวมตัวกันที่ลานมหาเจดีย์ชเวดากอง แม้จะไม่มีอำนาจห้ามปรามข้าหลวงใหญ่ชาวอังกฤษ ไม่มีอาวุธจะไปต่อสู้ แต่ทุกคนก็พร้อมใจกันนอนทอดร่างเรียงต่อๆกันเต็มลานมหาเจดีย์ ยอมให้รองเท้าของข้าหลวงชาวอังกฤษย่ำเหยียบลงบนร่างกายของตนดีกว่าจะยอมให้รองเท้ากระทบถูกลานพระเจดีย์
        ด้วยพลังศรัทธาอันเปี่ยมล้นของชาวพม่า ทำให้ข้าหลวงใหญ่ชาวอังกฤษถึงกับสะท้าน และยอมถอดรองเท้าเข้าลานเจดีย์

มหาธรรมกายเจดีย์
       มหาธรรมกายเจดีย์ ณ วัดพระธรรมกาย ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รวมชาวโลกมาปฏิบัติธรรมร่วมกันได้คราวละ 1 ล้านคน
       คริสต์ก็มีลานมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ในนครรัฐวาติกัน เป็นที่รวมชาวคริสต์ได้คราวละหลายแสนคน
       อิสลามก็มีเมกกะ ในซาอุดิอาระเบียเป็นที่รวมชาวมุสลิมได้นับล้านคน
       ชาวพุทธก็น่าจะมีสถานที่สักแห่งหนึ่งที่รวมชาวพุทธได้คราวละนับล้านคนเหมือนกัน
       เนื่องจากมีเป้าหมายให้เป็นพุทธสถานของชาวพุทธทั่วโลก รูปทรงเจดีย์จึงได้ย้อนกลับไปสู่ยุคดั้งเดิม ซึ่งเป็นรูปทรงสากล องค์เจดีย์เป็นรูปครึ่งทรงกลมคล้ายสาญจิเจดีย์ และมีเชิงลาดทอดเฉียงลงมาเพื่อเป็นที่ประดิษฐานองค์พระ จำนวน 300,000 องค์ เชิงลาดถัดลงมาเป็นที่นั่งของพระภิกษุจำนวน 10,000 รูป ภายในส่วนกลางองค์เจดีย์เป็นที่ประดิษฐานองค์พระอีก 700,000 องค์ รวมกับองค์พระภายนอกเป็นหนึ่งล้านองค์
      รอบมหาธรรมกายเจดีย์มีลานธรรมรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นที่ราว 400,000 ตารางเมตร ถัดจากลานธรรมออกไปที่ขอบทั้งสี่ด้านล้อมรอบด้วยมหารัตนวิหารคด 2 ชั้น เป็นแนวยาวทอดเป็นรูปขอบของสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง 99 เมตร ยาวด้านละ 1,000 เมตร รวมพื้นที่ 2 ชั้นราว 700,000 ตารางเมตร
      ในวันมาฆบูชาและวันสำคัญต่างๆ มีชาวพุทธทั่วโลกเดินทางมาปฏิบัติธรรม ณ ลานมหาธรรมกายเจดีย์นับล้านคน ต่างชื่นชมชาวพุทธไทยที่มีจิตศรัทธาสามารถสร้างพุทธสถานที่งดงามเป็นศูนย์รวมใจชาวพุทธทั่วโลกได้ เป็นความภาคภูมิใจของชาวพุทธไทย
      แต่พุทธสถานภายนอก แม้จะใหญ่โตเพียงใด ก็ยังเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น สิ่งที่สำคัญ คือแสดงให้เห็นถึงจิตใจที่เลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัยอย่างเต็มเปี่ยมของชาวพุทธไทย ซึ่งสามารถร่วมกันสร้างมหาธรรมกายเจดีย์จนสำเร็จได้และพร้อมเพรียงกันมาปฏิบัติธรรมจนเต็มลานพระเจดีย์อย่างนี้
      อย่างไรก็ตามเจดีย์ทุกรูปทรง ล้วนเป็นองค์แทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราชาวพุทธควรสักการะบูชา ถ้าเราได้ไปต่างประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา เช่น เมียนม่าร์ ทิเบต จีน เกาหลี เมื่อพบองค์เจดีย์ก็ควรเคารพบูชา จะเป็นสิริมงคลแก่ตน
      ผู้ที่ลบหลู่และกล่าวล้อเลียนองค์เจดีย์ก็เหมือนลบหลู่พระพุทธเจ้า เป็นการสร้างกรรมหนักน่ากลัวยิ่งนัก เราจึงไม่ควรคึกคะนองกล่าวคำดูหมิ่นเหยียดหยามองค์เจดีย์ ไม่ว่ารูปแบบใดทั้งสิ้น
“ ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
บาปส่งผลเมื่อใด คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น ”    ( พุทธพจน์ )



                                                   ขอบคุณที่มาข้อมูล : พุทธสามัคคี https://goo.gl/xGp0pd

0 ความคิดเห็น: