รูปทรงสถูป ศิลปอินเดียสมัยโบราณ
การสร้างสถูปเป็นพุทธเจดีย์นั้น เป็นที่แพร่หลายในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ถึงได้อุทิศพระองค์เป็นอุบาสก แล้วเสด็จออกผนวชเป็นพระภิกษุอยู่คราวหนึ่ง พระองค์ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเมื่อพระองค์ได้เสด็จจาริกแสวงบุญไปในที่ต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าหรือพุทธสาวกที่สำคัญ เช่น สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน พร้อมกับทรงสร้างสถูปและเสาอโศกประดิษฐานไว้ยังสถานที่นั้นๆ เพื่อเป็นที่สักการบูชาของคนในท้องถิ่น และเป็นเครื่องชี้ให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่า สถานที่แห่งนี้มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ พระองค์ยังได้แจกพระบรมธาตุไปประดิษฐานไว้ในประเทศต่างๆ และประสงค์จะให้สร้างสถูป (หรือเจดีย์) บรรจุอัฐิธาตุของพระสังฆเถระ เป็นบริวารของมหาสถูปทั่วชมพูทวีป เป็นจำนวน 84,000 องค์ด้วย
ลักษณะพระสถูปที่สร้างเมื่อครั้งพระเจ้าอโศกนั้น มักทำตัวสถูปกลม รูปทรงเหมือนขันน้ำหรือโอคว่ำข้างบนทำเป็นพุทธอาสน์สี่เหลี่ยมตั้งไว้และมีฉัตรปักบนนั้นเป็นยอด ใต้ตัวสถูปทำเป็นฐานรอง รอบฐานทำเป็นที่สำหรับเดินประทักษิณ แล้วมีรั้วล้อมรอบ (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2469: 37-38) ดังพระสถูปสาญจี ศิลา ที่ยังคงเหลือเป็นหลักฐานมาถึงยุคปัจจุบันนี้
|
พระสถูปที่สาญจี ศิลปอินเดียสมัยโบราณ พุทธศตวรรษที่ 5
ที่มาภาพ: https://goo.gl/tZpLPm |
|
รูปทรง สัณฐาน ของสถูปอินเดียโบราณ
ที่มาภาพ: https://goo.gl/l8Pd9J
|
มหาสถูป" ที่สาญจี
มหาสถูป สาญจี ปัจจุบันอยู่ในรัฐมัธยมประเทศของอินเดีย ที่นี่เป็นดินแดนแห่งสถูป (เจดีย์)วัด วิหาร และเสาศิลาจารึก สันนิษฐานว่าเริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 250 แต่เดิมเป็นเจดีย์ที่สร้างด้วยดิน และได้มีการบูรณะเพิ่มเติมในสมัยราชวงศ์ศุงคะ หรือประมาณพุทธศตวรรษที่ 3-4 ถูกค้นพบโดยนักโบราณคดีชาวอังกฤษ ซึ่งได้พบสถูปองค์ ที่ 1, 2,3 พร้อมกุฏีที่พักสงฆ์เป็นจำนวนมาก แต่สถูปได้ถูกทำลายเป็นส่วนมาก โดยพวกนักล่าสมบัติ
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างมหาสถูปสาญจีขึ้น ในสมัยที่เป็นอุปราชปกครองกรุงอุชเชนี ด้วยพระประสงค์สำคัญ 4 อย่างคือ
1. เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
2. เพื่อบรรจุพระธาตุของพระอัครสาวก พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ รวมทั้งพระธาตุของพระสมณทูตอีก 10 รูป ที่ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาภายหลังการสังคายนาครั้งที่ 3
3. เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระโอรส “มหินทระเถระ” และพระธิดา “พระสังฆมิตตาเถรี”
4. เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระมเหสีพระนามว่า พระนางเวทิสา ผู้มีถิ่นกำเนิดที่สาญจี แห่งนี้
ปัจจุบันสถูปเจดีย์สาญจีอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ มีลักษณะเป็นรูปกลม “ทรงโอคว่ำ“ ถือเป็นรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุด มีความสูง 16 เมตร กว้าง 37 เมตร มีประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศ มียอดฉัตรสามชั้น พร้อมกำแพงหินสลักภาพพุทธประวัติที่งดงามยิ่งนัก รวมถึงภาพพระพุทธเจ้าในอดีต และภาพสัตว์ต่างๆ ที่สื่อความสำคัญทางพระพุทธศาสนา
นอกจากนี้ ในสมัยพระเจ้าอโศก ภายหลังการเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเถระยังดินแดนสุวรรณภูมิ ส่งผลให้สถูปเจดีย์จากอินเดีย ได้ส่งอิทธิพลต่อการสร้างเจดีย์ในประเทศไทยในกาลต่อมาอีกหลายแห่ง อาทิ พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร, พระประโทณเจดีย์ วัดพระประโทณเจดีย์วรวิหาร, เนินวัดพระงาม ตั้งอยู่ในวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม เป็นต้น (พระมหาสมจินต์ สมมาปญโญ (2547) http://goo.gl/KbOhUP)
ประวัติองค์พระปฐมเจดีย์
พระปฐมเจดีย์ ถือว่าเป็นเจดีย์องค์แรกที่สร้างขึ้นในประเทศไทย ประมาณ พ.ศ. ๓๐๐ สมัยที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งสมณทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ พระโสณะ พระอุตตระ และคณะได้เดินทางมาประกาศพระพุทธศาสนาที่ดินแดนสุวรรณภูมิ องค์เจดีย์ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่องค์เดิม แต่เป็นเจดีย์ที่ก่อขึ้นมาใหม่หุ้มองค์เดิมไว้
พระปฐมเจดีย์องค์เดิมมีลักษณะเหมือนเจดีย์ที่สาญจิ ประเทศอินเดีย กล่าวคือ องค์เจดีย์เป็นรูปกลม เหมือนโอหรือขันน้ำคว่ำ ข้างบนทำเป็นพุทธอาสน์สี่เหลี่ยมตั้งไว้ มีฉัตรปักเป็นยอด ฐานเจดีย์ทำเป็นสี่เหลี่ยม รอบฐานทำเป็นที่เดินประทักษิณ อีกประการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวินิจฉัยว่า พระธมเจดีย์องค์นี้อาจเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเมื่อคราวที่พระสมณทูตในพระเจ้าอโศกมหาราชเดินทางมาเผยแผ่ศาสนายังสุวรรณภูมิก็เป็นได้ เพราะพระเจดีย์เดิมมีลักษณะทรงโอคว่ำหรือทรงมะนาวผ่าซีกแบบเดียวกับพระสถูปสาญจี แต่ปรากฏว่ามียอดเป็นแบบปรางค์ ซึ่งพระองค์ฯ มีพระราชวินิจฉัยว่า อาจมีเจ้านายพระองค์ใดมาบูรณะไว้ก็เป็นได้ (วิกิพีเดีย. https://goo.gl/zDT5of)
|
ที่มาภาพ: https://goo.gl/Bwq6Tx |
|
รูปแบบพระปฐมเจดีย์ องค์เดิม
ที่มา: https://goo.gl/nPu22b |
พระปฐมเจดีย์องค์เดิมมีขนาดความสูง ๑๙ วา ๒ ศอก (หรือ ๓๙ เมตร) ถูกทิ้งให้รกร้างไม่มีใครดูแลอยู่ระยะหนึ่ง สมัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวชอยู่ เสด็จฯไปนมัสการพระปฐมเจดีย์หลายครั้ง ทรงเห็นว่าเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ เมื่อขึ้นครองราชย์ จึงได้โปรดฯให้ก่อเจดีย์แบบลังกาครอบเจดีย์องค์เดิมไว้เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๖ มีขนาดความสูง ๑๒๐ เมตร ๔๕ เซนติเมตร
ดังนั้น ลักษณะองค์เจดีย์ในปัจจุบัน ทรงพระปรางค์ ปากผาย โครงสร้างเป็นไม้ซุง รัดด้วยโซ่เส้นใหญ่ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ ขนาดความสูงจากพื้น ๑๒๐ เมตร ๔๕ เซนติเมตร มีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ประดิษฐานโดยรอบ ๘๐ องค์ ประกอบด้วยพระวิหาร ๔ ทิศ กำแพงแก้ว ๒ ชั้น
|
พระปฐมเจดีย์ องค์ปัจจุบัน จ.นครปฐม
ที่มาภาพ: https://goo.gl/HvnxFd |
เจดีย์แบบปรางค์
ระยะเวลากว่าพันปีมาแล้ว ที่ดินแดนไทยรวมทั้งดินแดนใกล้เคียงในภูมิภาคแถบนี้ ได้เข้าสู่วัฒนธรรมศาสนาภายใต้ระบบกษัตริย์ ซึ่งแผ่ขยายจากประเทศอินเดียโบราณ ทำให้แบบแผนด้านงานช่างหรือที่เรียกว่า "ศิลปกรรม" อันเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่ง ในการเผยแผ่คติความเชื่อและการศรัทธาในศาสนา ได้ก้าวผ่านพัฒนาการมาเป็นลำดับ จนมีลักษณะเฉพาะเป็นลำดับยุคสมัยของดินแดนเหล่านั้น ซึ่งการติดต่อไปมาหาสู่กัน ทำให้เกิดการถ่ายรับแรงบันดาลใจด้านรูปแบบ และคติความเชื่อระหว่างดินแดนทั้งใกล้และไกลอีกด้วย จึงมีรูปแบบเจดีย์ทรงอื่นๆ มีการปรับปรุงอยู่ในดินแดนต่างๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนา (สารานุกรมสำหรับเยาวชน, http://goo.gl/WSK4GR)
เจดีย์อีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “ปรางค์” มีแบบอย่างมาจากปราสาท(เรือนหลายชั้น) ปราสาทนี้เดิมทีเดียวสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่ของคนมั่งมี สร้างด้วยไม้ ต่อมามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแบบการสร้างปราสาท นิยมสร้างอิฐและศิลาเกิดเป็นพระปรางค์ นิยมสร้างกันทั้งในกลุ่มคนที่นับถือพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์(ฮินดู) สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปหรือเทวรูป ถ้าเป็นพระปรางค์ในพระพุทธศาสนา ยอดทำเป็นสถูป แต่ถ้าเป็นปรางค์ในศาสนาพราหมณ์ ยอดทำเป็นตรีศูล (๓ สามแฉก) หรือนพศูล(๙ แฉก)
|
พระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
ที่มาภาพ: https://goo.gl/LtKqoo |
|
พระปรางค์วัดศรีสวาย (สามองค์)
ที่มาภาพ: https://goo.gl/TqsoC7 |
พระปรางค์ของไทยโดยทั่วไปมีลักษณะรูปทรงคลี่คลายมาจากอิทธิพลแบบอย่างสถาปัตยกรรมสิขร ของขอมและอินเดียผสมผสานกัน แต่มิได้ลอกเลียนแบบมาโดยตรง พุทธปรางค์ในสมัยสุโขทัยแม้จะมีอยู่เพียงไม่กี่องค์ก็ตาม แต่ก็มีปัญหาถกเถียงกันในหมู่นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ปรางค์ต่างๆ เป็นปรางค์ที่ขอมสร้างไว้เมื่อครั้งยังมีอำนาจในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและเลยขึ้นไปถึงลำน้ำยม ต่อมาเมื่อไทยมีอำนาจมากขึ้น ได้ดัดแปลงแต่งเติมเพิ่มขึ้นภายหลัง จึงปรากฏรูปแบบศิลปะของฝีมือช่างไทย คือรูปทรงสูงชลูด พุทธปรางค์เท่าที่ปรากฏอยู่มี พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระปรางค์วัดเจ้าจันทน์ ในอำเภอศรีสัชนาลัย พระปรางค์วัดศรีสวาย (สามองค์) พระปรางค์วัดพระพายหลวง (สามองค์) และศาลผาตาแดง(ยอดพังลงหมดแล้ว)ในอำเภอเมืองสุโขทัย (Ramkhamhaeng University.ศิลปกรรมสัมยสุโขทัย http://goo.gl/6ckzhl
|
เจดีย์ประธานทรงระฆัง ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มาภาพ: https://goo.gl/u56EYI |
เจดีย์ที่พบในประเทศไทย มีทั้งแบบเจดีย์ประธานยอดดอกบัวตูม ที่วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เจดีย์ประธานทรงระฆัง ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน เจดีย์ทรงระฆังแบบทรงเครื่อง เจดีย์ทรงเครื่องวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง เจดีย์วัดสามพิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
|
เจดีย์ทรงปราสาทแบบหริภุญชัย ที่วัดกู่กุด จังหวัดลำพูน ที่มาภาพ: https://goo.gl/PMZB1z |
เจดีย์ทรงปราสาทแบบหริภุญชัย ที่วัดกู่กุด จังหวัดลำพูน เจดีย์ทรงปราสาทแบบสุโขทัย ที่วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆังแบบสุโขทัย ที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว ศรีสัชนาลัย เจดีย์ทรงปราสาทแบบขอม ที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เจดีย์ทรงปราสาทแบบขอม ปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี
|
พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ที่มาภาพ: https://goo.gl/xY2OXp |
เจดีย์ทรงปรางค์ ปรางค์ประธาน ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เจดีย์ทรงปรางค์นี้สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรม ๒ สาย พราหมณ์(ฮินดู)กับพระพุทธศาสนา ยอดปรางค์เป็น ๓ แฉก(ตรีศูล) แสดงถึงอาวุธประจำตัวของพระศิวะ(พระอินทร์) หรือแสดงถึงเทพใหญ่ ๓ องค์ของฮินดู คือ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิว(ตรีมูรติ) ยอดปรางค์เป็น ๙ แฉก เช่นปรางค์วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ มีกิ่งรูปดาบแตกสาขาออกไป ๔ ทิศ แสดงถึงโลกุตตรธรรม ๙(พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ (2547) http://goo.gl/KbOhUP)
|
มหาธรรมกายเจดีย์เป็นเจดีย์รูปทรงดั้งเดิม ร่วมสมัยพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ที่มาภาพ: https://goo.gl/D81EG0
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า รูปแบบเจดีย์สมัยต่างๆ ที่กล่าวมาโดยย่อนี้ สะท้อนภาพรวมที่เป็นเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมในอดีตของดินแดนไทย มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่นมีการผสมผสาน จนในที่สุดกลายมาเป็นเจดีย์ในศิลปะรัตนโกสินทร์ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน
|
เราจะเห็นว่าในพระพุทธศาสนา ปรากฎรูปแบบของพุทธเจดีย์หลายหลาก แต่ทุกรูปแบบนั้นเหตุที่สร้างขึ้นมีเหมือนกันในทุกๆ ภูมิภาค (เกษมสุข ภมรสถิตย์, 2558: 42) คือ
1. สร้างเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา
2. สร้างเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์
3. สร้างเพื่อสักการะเคารพบูชา
เรียบเรียงโดย: มะลิ สไมล์ ,นักวิชาการอิสระ
อ้างอิงข้อมูล:
1.สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ.ตำนานพระพุทธเจดีย์.2469.
2.ศาสตราจารย์ ดร. สันติ เล็กสุขุม.เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย.พิมพ์ครั้ง ที่ 5,2552.
3.พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ "เจดีย์ในพระพุทธศาสนา" (2547) http://goo.gl/KbOhUP.